ประวัติความเป็นมา

สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ

ประวัติสมาคม

จุดเริ่มต้นของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่รักการถ่ายภาพแนวพิคทอเรียล (Pictorial) ราว 20 คน ได้จัดตั้งเป็นชมรมถ่ายภาพขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ครั้งแรกเรียกว่า “ศูนย์ถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ” โดยมี อ.เชาว์ จงมั่นคง เป็นประธานศูนย์ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “BANGKOK PICTORIALISTS CIRCLE” อักษรย่อ “BPC.” ซึ่งคำว่า “พิศเจริญ” เป็นคำที่ อ.เชาว์คิดค้นขึ้น เป็นคำเลียนเสียงคำว่า PICTORIAL ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

กิจกรรมของศูนย์เริ่มเป็นที่สนใจของนักถ่ายภาพในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับ อ.เชาว์ได้ส่งบทความภาษาอังกฤษพร้อมภาพถ่ายไปลงในนิตยสาร BANGKOK MAGAZINE ของหนังสือพิมพ์ BANGKOK WORLD สิบกว่าตอน ทำให้มีนักถ่ายภาพชาวต่างประเทศสิบกว่ารายให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมและ สมัครเข้าเป็นสมาชิกของศูนย์ จุลสารของศูนย์ในขณะนั้นจึงต้องใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนมีสมาชิกมากถึงสองร้อยกว่าคน

กลุ่มผู้ก่อตั้งต่างเห็นว่าเกินกำลังที่จะบริหารงาน จึงเสนอให้มีการจดทะเบียนเป็นสมาคม หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายครั้ง ก็ได้มีมติมอบหมายให้สมาชิก 4 คน เป็นผู้เริ่มการขอจดทะเบียนเป็นสมาคม ซึ่งได้แก่

1. อ.เชาว์ จงมั่นคง

2. คุณประสพ มัจฉาชีพ

3. ท.พ.สมพงษ์ ลิปภานนท์

4. คุณสุรเกียรติ คงยิ่งยง

โดยมีคุณประเสริฐ เจนศิริวานิช ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความช่วยดำเนินการติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การจดทะเบียนเป็นสมาคมดำเนินการเสร็จสิ้นรวดเร็ว ชื่อที่สมาคมขอจดทะเบียนครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2523 (หลังจากที่เป็นศูนย์ถ่ายภาพได้ 10 ปี) ใช้ชื่อว่า “สมาคมพิศเจริญกรุงเทพ” ต่อมาภายหลังเมื่อได้ทะเบียนสมาคมเรียบร้อยแล้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สมาคมถ่ายภาพพิศเจริญกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยยังคงใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “BANGKOK PICTORIALISTS CIRCLE” เช่นเดิม เป็นที่น่าเสียดายที่ทางการไม่อนุญาตให้สมาคมรับสมัครสมาชิกต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่เคยเป็นสมาชิกอยู่นับสิบคนก็เลยต้อง
ล่าถอยไป

ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2526 คณะกรรมการบริการเห็นว่าไม่ควรจำกัดสมาคมให้มีกิจกรรมทางภาพถ่าย “พิศเจริญ หรือ PICTORIAL” ตามชื่อสมาคมแต่เพียงประเภทเดียว อยากจะให้สมาคมแตกกิ่งก้านสาขาในการถ่ายภาพมากขึ้น จึงเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ให้เปลี่ยนชื่อสมาคมอีกครั้งเป็น “สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “BANGKOK PHOTOGRAPHIC SOCIETY” อักษรย่อ “BPS” และได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเรียบร้อย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2527 โลโก้รูปกล้องประกอบตัวอักษร BPC ก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็น BPS ด้วย

อ.เชาว์ จงมั่นคง ผู้ก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ และเป็นนายกสมาคมคนแรก ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538


จุดประสงค์ในการก่อตั้งสมาคม

1. ส่งเสริมวิทยาการ และเทคนิคการถ่ายภาพ

2. ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ทางด้านการถ่ายภาพให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป

3. ส่งเสริมให้สมาชิกตลอดจนบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชนของชาติ สร้างสรรค์ภาพถ่ายที่อุดมด้วยสุนทรียภาพและอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของไทย

4. ให้ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการหรือสถาบันอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน

5. ส่งเสริมความสามัคคีและพลานามัยของสมาชิก ตลอดถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในวิชาการถ่ายภาพ (ทั้งนี้วัตถุประสงค์ทุกประการไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง)

ที่ตั้งสำนักงานสมาคม

ปัจจุบันใช้ที่อยู่ของนายกสมาคม คือ  

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

ห้อง403 ชั้น4 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ 

เขตประทุมวัน กทม. 10330

กิจกรรมเพื่อสมาชิก

1. สมาคมจัดกิจกรรมสังสรรค์ ปีละ 12 ครั้ง แบ่งเป็น

1.1 กิจกรรมสังสรรค์ ภายในสถานที่ 6 ครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมกราคม, มีนาคม, พฤษภาคม, กรกฎาคม, กันยายน และ พฤศจิกายน กิจกรรมที่จัดประกอบด้วย

-ประกวดภาพถ่ายประเภทภาพเอกรงค์, ภาพสี, ภาพสีโปร่งแสง

-จัดวิทยากรให้ความรู้ทางด้านศิลปะและเทคนิคการถ่ายภาพ

-จัดแบบถ่ายภาพ โดยใช้ชุดไฟสตูดิโอ

1.2 กิจกรรมสังสรรค์ ทัศนาจรนอกสถานที่ 6 ครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมกราคม, มีนาคม, พฤษภาคม, กรกฎาคม, กันยายน และ พฤศจิกายน

2. วารสารสมาคม จำนวน 6 ฉบับ ต่อปี เพื่อส่งเสริมความรู้ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารแก่สมาชิก


กิจกรรมเพื่อสังคม

สมาคมให้ความร่วมมือกับส่วนราชการและสถาบันต่างๆ ในการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สาธารณชน

1. การเป็นวิทยากร อบรมความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ให้สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ

2. จัดประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศ ชิงรางวัลถ้วยพระราชทาน 5 ประเภท ได้แก่


ประเภทภาพเอกรงค์ รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประเภทภาพสี รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ประเภทภาพบุคคล รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ประเภทภาพสีโปร่งแสง (สไลด์สี) รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ประเภทภาพเทคนิคดิจิตอล รางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี


3. ร่วมในการจัดประกวด ตลอดจนเป็นกรรมการตัดสินภาพถ่าย ให้กับส่วนราชการและองค์กรต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร, กรมป่าไม้, สถาบันส่งเสริมสถานภาพสตรี, สมาคมสร้างสรรค์ไทย ฯลฯ

4. จัดทำหนังสือ My Country ในโอกาสครบรอบ 25 ปี, จัดทำหนังสือ คนของแผ่นดิน ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสมาคม และหนังสือรวมผลงานภาพประกวดทั่วประเทศ

5. ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือ และถ่ายภาพ งานแสดงแสนยานุภาพกองทัพไทย ครบ 50 ปี เมื่อปี 2539 และอื่นๆ อีกมากมาย


รายนามนายกสมาคม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปีปัจจุบัน

1. คุณเชาว์ จงมั่นคง พ.ศ. 2523-2524
2. คุณประสพ มัจฉาชีพ พ.ศ. 2525
3. ท.พ.สมพงษ์ ลิปภานนท์ พ.ศ. 2526-2527
4. คุณจำนง หิรัญประดิษฐ พ.ศ. 2528
5. คุณสมชัย ศิริพระชัยถาวร พ.ศ. 2529
6. คุณพิชัย จิตรภาวนากุล พ.ศ. 2530
7. ท.พ.สมพงษ์ ลิปภานนท์ พ.ศ. 2531-2532
8. คุณอรวรรณ อมราภรณ์กุล พ.ศ. 2533-2534
9. คุณวิชิต สุรพนานนท์ชัย พ.ศ. 2535
10. คุณยงยุทธ คงมหาพฤกษ์ พ.ศ. 2536
11. คุณจัตุรงค์ พราหมณ์แก้ว พ.ศ. 2537-2538
12. คุณวิทยา รัตนพรสุข พ.ศ. 2539
13. คุณจันทรา พราหมณ์แก้ว พ.ศ. 2540-2545
14. คุณจินดา วาณิชพัฒนากูล พ.ศ. 2546-2547
15. คุณพิสิฐ ไชยประยูร พ.ศ. 2548-2549
16. คุณวิชัย พรเศรษฐ์ถาวร พ.ศ. 2550-2557

17. คุณนพคุณ กุลสุจริต พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน